อามาลี คอนเซลล์ เอช อาบูซาน อายุ 40 ปี

ผู้ประสานงานรณรงค์ระดับภูมิภาคด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นหัวหน้าโครงการปกป้องอาร์กติก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2556

ฉันเข้าร่วมกับกรีนพีซตั้งแต่ปี 2548 ด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่ระดมทุน เมื่อปีที่แล้วฉันเป็นหัวหน้าโครงการปกป้องอาร์กติกของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการนี้มีการรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกเพื่อปกป้องอาร์กติกและเพื่อประกาศให้เป็นเขตสงวนระดับโลกเพื่อปกป้องไว้ไม่ให้มีการขุดเจาะน้ำมันและก่ออุตสาหกรรมใดๆที่ไม่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

ฉันค่อนข้างรีรอในตอนแรกที่จะได้เป็นผู้นำในโครงการนี้เพราะรู้สึกว่ามันท้าทายมากที่จะสื่อสารประเด็นนี้กับผู้คนในเขตเมืองร้อนอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แล้วฉันก็เปลี่ยนใจเมื่อเริ่มเห็นนักปกป้องอาร์กติกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนหลายหมื่นคนจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ ร่วมกันลงชื่อส่งข้อเรียกร้องให้มีการประกาศเขตสงวนอาร์กติก

ช่วงเวลาแห่งแรงบันดาลใจคือเมื่อ ซาร่าห์ บาตรีสยา บินตี โมฮัมหมัด อารีฟ เด็กหญิงอายุ 13 ปี เนตรนารีจากมาเลเซียชนะรางวัลที่หนึ่งในการประกวดงานศิลปะในหัวข้อ “Flag for the Future” หรือ “ธงแห่งอนาคต” ซึ่งกรีนพีซจัดขึ้นทั่วโลกร่วมกับสมาคมอนุกาชาดและเนตรนารีโลก การประกวดงานศิลปะ “Flag for the Future” เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนทั่วโลกสร้างสรรค์ธงสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ความหวังและชุมชนทั่วโลก ที่มีความหมายถึงคำมั่นสัญญาของผู้คนหลายล้านคนที่ลงชื่อเรียกร้องปกป้องอาร์กติกจากการขุดเจาะน้ำมันและประมงเกินขนาด

ซาร่าห์ได้สร้างสรรค์ “อาร์กติก สตาร์” หรือ “ดวงดาวแห่งอาร์กติก” เพื่อนำเสนอความหวังที่ไม่เพียงอาร์กติกแต่เพื่อโลกทั้งมวล เธอยังบอกด้วยว่า “เราสามารถรักษาอาร์กติกให้คนรุ่นต่อไปได้หากเราร่วมมือกันอย่างสันติสุขและสมานฉันท์”

ฉันคิดว่าเธอได้แสดงให้โลกเห็นว่าผู้คนหลายหมื่นคนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นห่วงอาร์กติก ความหลากหลายและจำนวนของผู้ติดตามและผู้สนับสนุนที่เราได้รับทั่วทั้งภูมิภาคนี้น่าประทับใจอย่างที่สุด ฉันรู้สึกภูมิใจมาก

ในฐานะของแม่ที่มีลูกเล็กๆสองคน ฉันต้องการช่วยรักษาโลกใบนี้เพื่ออนาคตของพวกเขา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไร้พรมแดนและเราอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอยู่ท่ามกลางผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เปราะบางนี้ แต่ทางออกของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีอยู่มากมายในภูมิภาคของเรา ร่างพิมพ์เขียวปฏิวัติพลังงานอาเซียน ที่เราเผยแพร่เมื่อปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนได้มากกว่าร้อยละ 90 ภายในปี 2573 และยังมีวิธีอื่นๆที่มากมายที่รัฐบาลและชุมชนทำได้ เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของทางออกนั้น