รายงานประจำปี 2556
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สาส์นจากประธานคณะกรรมการบริหาร
ซูซี่ ฮูโทโม
สาส์นจากผู้อำนวยการบริหาร

เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของเราเข้าทอดสมอในกรุงจาการ์ตา และได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโนและครอบครัวพร้อมทั้งคณะรัฐมนตรี สำหรับผมแล้ว มันเป็นชั่วขณะที่หายเหนื่อยจากการทำงานตลอดทั้งปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่เราต้องใช้ความพยายามอย่างมหาศาลที่จะบรรลุผลในการรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำปราศรัยของประธานาธิบดีในวันนั้น ท่านกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าต้องการให้คำยืนยันต่อหลานๆของข้าพเจ้าว่า พวกเขาจะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและเป็นสุขในอนาคต”

นี่คือวิสัยทัศน์ที่กรีนพีซยึดมั่น และเป็นวิสัยทัศน์เดียวกับทุกท่านที่ยังคงให้การสนับสนุนเรามาตลอดบนเส้นทางนี้ วิสัยทัศน์นี้ยังได้สะท้อนถึงการทำงานที่บรรลุผลในปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับงานรณรงค์และองค์กรของเราทั้งปวง

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประวัติการทำงานรณรงค์ที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จที่ไม่เพียงแต่เกี่ยวเนื่องกับผู้คนในภูมิภาค แต่เรายังให้การสนับสนุนเป้าหมายการรณรงค์ของกรีนพีซในระดับโลก ความสำเร็จของงานรณรงค์ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและทั่วทั้งภูมิภาคเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดีว่ามีผลสะเทือนอย่างสูงต่อรัฐบาลในภูมิภาคนี้และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม รายงานประจำปีฉบับนี้อธิบายโดยสรุปถึงความสำเร็จของการรณรงค์ที่เราร่วมกันทำให้เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

ในเวลาเดียวกัน ปี 2556 ยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในฐานะองค์กร เมื่อกลางปี 2556 เราเริ่มกระบวนการวางแผนโครงการ 3 ปี สำหรับแผนงานปี 2557-2559 การดำเนินการตามแผนนี้เป็นสิ่งเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Operation Model หรือแบบร่างแผนปฏิบัติการของกรีนพีซทั่วโลก

แบบร่างแผนปฏิบัติการทั่วโลกฉบับใหม่นี้เป็นแผนงานยุทธศาสตร์ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างถ่องแท้ของโลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนขั้วภูมิศาสตร์การเมืองไปสู่โลกใหม่ที่มีมากกว่าสองขั้วที่การควบรวมเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโลก แม้ว่ามันได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อศักยภาพของโลกในการเอื้อต่อการดำรงชีวิต

ร่างแผนปฏิบัติการฉบับใหม่นี้ยังหมายรวมถึงผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ของการสื่อสารดิจิทัลซึ่งปัจจุบันได้ครอบคลุมถึงการเมืองในระดับโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นนอกจากจะเป็นศูนย์กลางของแนวโน้มทั้งสองเหล่านี้ ยังเป็นภูมิภาคที่เป็นทั้งต้นตอและได้รับผลกระทบจากความล่มสลายทางสิ่งแวดล้อม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นสมรภูมิที่กำหนดชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ในการการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลก

ประเด็นเหล่านี้เป็นนัยการทำงานสำคัญระดับโลกของเราในภูมิภาคนี้ กระบวนการทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคจึงต้องสัมพันธ์กับนโยบายทางสิ่งแวดล้อมที่จริงจังเพื่อรับประกันถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อคนในรุ่นเราและรุ่นต่อไป

นั่นหมายถึงว่า ในปีต่อๆไป กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงมีบทบาทเป็นผู้นำในการวางแผนและลงมือทำให้โครงการต่างๆของกรีนพีซทั่วโลกบังเกิดผล และเพื่อให้บรรลุผลตามนี้ แผนงานที่เราพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2556 ได้กำหนดเป้าหมายที่มุ่งมั่นและจำกัดความใหม่ถึงวิธีที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีส่วนช่วยให้มโนภาพของอนาคตสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และสันติสุขเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะเมื่อเราปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานของเราเพื่อให้แน่ใจได้ว่ามีความเหมาะสมกับการสานต่องานรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ในห้วงเวลาที่เราให้ความสำคัญมากกับ “พลังของประชาชน”

เราเชื่ออย่างแรงกล้าว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนและการให้อำนาจประชาชนเพื่อมีส่วนร่วมในประเด็นสิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่องานรณรงค์ของเรามากที่สุดและยั่งยืนที่สุดทั้งต่องานในพื้นที่และในระดับนโยบาย

วิสัยทัศน์ของเรายังคงอยู่ที่หัวใจของการเปลี่ยนผ่านนี้ เมื่อผมได้มองย้อนกลับไปด้วยความภาคภูมิใจในความสำเร็จต่างๆในปีที่ผ่านมาหรือเมื่อทศวรรษที่ผ่านไป ผมจึงเฝ้ามองในแง่ดีถึงทิศทางการทำงานของเราในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ขณะที่คุณและผมอ่านสาส์นอยู่นี้ การทำลายสิ่งแวดล้อมยังคงดำเนินอยู่ เป็นอันตรายต่ออนาคตของลูกหลานและภูมิภาคของเรา งานที่รอเราอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นใหญ่หลวงยิ่งนัก และเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะทำให้ชัยชนะของสิ่งแวดล้อมบนโลกนี้ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น

แต่ด้วยพละกำลังของการเริ่มต้นใหม่ การรณรงค์ที่เข้มแข็งและพลังประชาชน ผมมั่นใจว่า เราสามารถบรรลุถึงวิสัยทัศน์ที่เรามีร่วมกันได้

วอน เฮอร์นันเดซ
ผู้อำนวยการบริหาร
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะกรรมการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อีโค มัทเซอร์
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ:
ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเด็นสภาพภูมิอากาศและพลังงาน ผู้สนับสนุนการขยายเครือข่ายนานาชาติ มีภูมิหลังในการร่วมอภิปรายด้านพลังงานหมุนเวียน การเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน อีโคมีส่วนร่วมในโครงการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพลังงานหมุนเวียน การขจัดความยากจนและการพัฒนาเศรษฐกิจ

สัญชาติและถิ่่นพำนัก:
อีโค เป็นชาวดัทช์และอาศัยอยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
แฮร์รี่ เซอร์จาดี
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ:
แฮร์รี่ได้รับรางวัลการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ มีความเชี่ยวชาญในการใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เป็นสื่อมวลชนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผู้เชี่ยวชาญและนักพัฒนาด้านการสื่อสารพลเมืองชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคเอกชน แฮร์รี่ให้คำมั่นสัญญาที่จะช่วยและสนับสนุนประชากรรากหญ้า

สัญชาติและถิ่่นพำนัก:
แฮร์รี่เป็นชาวอินโดนีเซีย อาศัยอยู่ในเมืองเดป็อก อินโดนีเซีย
ยอง ไก ปิง
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ:
นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม มีความเชี่ยวชาญด้านนิวมีเดียและเครื่องมือสื่อสารมวลชนเพื่อใช้พลังของ “การเคลื่อนไหวอย่างมีส่วนร่วมในวงกว้าง” ไก ปิง มีภูมิหลังด้านการสร้างพลังเคลื่อนไหวของประชากรรากหญ้า

สัญชาติและถิ่่นพำนัก:
ไก ปิง เป็นชาวมาเลเซียและอาศัยอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
แมนนี่ คาลอนโซ่
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ:
ปัจจุบัน แมนนี่เป็นประธานร่วมของเครือข่ายกำจัดสารเคมีตกค้าง POPs สากล (IPEN) ซึ่งเป็นเครือข่ายทำงานระดับโลกในการก่อตั้งและดำเนินงานด้านนโยบายและกระบวนการผลิตสารเคมีที่ปลอดภัยเพื่อปกป้องสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก แมนนี่ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในโครงการกำจัดสารตะกั่วออกจากสี

สัญชาติและถิ่่นพำนัก:
แมนนี่เป็นชาวฟิลิปปินส์และอาศัยอยู่ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
ดร.โอภาส ปัญญา
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ:
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและประชาสังคม ดร.โอภาสมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล่อมโดยชุมชน การพัฒนาองค์กรและภาวะผู้นำองค์กรท้องถิ่นและภาคประชาชน

สัญชาติและถิ่่นพำนัก:
ดร.โอภาส เป็นคนไทย อาศัยอยู่ใน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ดร. ศศิวิมล สมิตติพัฒน์
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ:
นักสิ่งแวดล้อม ผู้นำด้านการตลาดและที่ปรึกษางานวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักจิตวิทยาและมีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจและการประกอบกิจการขนาดเล็กของนักธุรกิจรายย่อย

สัญชาติและถิ่นพำนัก:
คุณศศิวิมล เคยอาศัยอยู่ทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร
ซูซี่ ฮูโทโม
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ:
นักสิ่งแวดล้อม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ผู้สนับสนุนเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ เชี่ยวชาญด้านธุรกิจที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ นักอนุรักษ์ทางทะเล ผู้นำด้านความยั่งยืนของภาคเอกชน และพรีเซนเตอร์อย่างเป็นทางการของงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีอัล กอร์​

สัญชาติและถิ่นพำนัก:
ซูซี่เป็นชาวอินโดนีเซียและอาศัยอยู่ในเมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
เกี่ยวกับกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
งานรณรงค์ต่างๆของกรีนพีซล้วนผลักดันให้เรามุ่งไปสู่โลกที่ผู้คนและสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมมนุษย์ที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมในโลกและข้อจำกัดเชิงนิเวศ

กรีนพีซมุ่งมั่นสร้างเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่จริงผ่านการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง และด้วยวิธีเฉพาะของกรีนพีซเท่านั้น เราใช้พลังในการเปลี่ยนแปลงที่เด็ดขาดและนำเสนอทางออกที่เป็นจริง สะท้อนเสียงของผู้คนที่ต้องการสร้างโลกที่มีสิ่งแวดล้อมค้ำจุนวิถีชีวิตในปัจจุบันและคนรุ่นต่อไป

ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำและมหาสมุทรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้าน รวมถึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของต้นไม้ พืช นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายพันชนิด ในวันนี้ สัตว์ป่าและพรรณพืชจำนวนมากกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า มลภาวะ และเกษตรอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืน ภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วและความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสิ่งที่แลกมาด้วยต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว

ภารกิจของเราในภูมิภาคในช่วง 13 ปีที่ผ่านมายังคงมีเป้าประสงค์เช่นเดิม เรามุ่งมั่นที่จะคุ้มครองสิทธิของสิ่งแวดล้อม เปิดโปงและหยุดยั้งอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม และผลักดันการพัฒนาที่สะอาด

โครงการของเราในภูมิภาคได้วางอยู่บนการวิเคราะห์วิกฤตการณ์และแม่แบบในการตอบสนองและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การรณรงค์เพื่อมุ่งสู่อนาคตของสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงและมีสันติภาพ

เรามุ่งปกป้องภูมิภาคนี้จากความล่มสลายด้านระบบนิเวศและเป็นผู้สร้างความตระหนักรู้และการลงมือกระทำเพื่อประโยชน์แห่งการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขันและเติบโตขึ้นของทั้งผู้บริจาคเงินรายบุคคล นักกิจกรรมออนไลน์ อาสาสมัคร เครือข่ายชุมชน กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่อุทิศตนเอง เรากำลังร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนอย่างเห็นผลเพื่อประชาชนในภูมิภาค

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรารณรงค์เพื่อ:

ปกป้องป่าดึกดำบรรพ์ของโลก

สัตว์ป่า พรรณพืช และชุมชนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงผืนป่า

ปฏิวัติพลังงาน

เพื่อรับมือกับภัยคุกคามของโลก นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปกป้องทะเลและมหาสมุทร

ด้วยการยุติประมงทำลายล้าง โดยสร้างเครือข่ายปกป้องมหาสมุทรในระดับโลก

สร้างสรรค์อนาคตที่ปลอดสารพิษ

ด้วยทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสารเคมีเป็นพิษในผลิตภัณฑ์และการผลิต

สนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน

ด้วยการปฏิเสธพืชดัดแปลงพันธุกรรม ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและสนับสนุนเกษตรกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

งานของเราถูกกำหนดแนวทางด้วยคุณค่าหลักปฏิบัติของการไม่ใช้ความรุนแรง การดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระทางการเงิน การเผชิญหน้าและพลังของการปฏิบัติร่วมกัน

วิสัยทัศน์ระดับโลกในแผนงานระยะยาวเป็นตัวกำหนดแนวทางของแผนระยะสั้น อันประกอบด้วยแผนงานรณรงค์สามปี แผนริเริ่มและเป้าหมาย ซึ่งออกแบบมาเพื่อบรรลุเป้าประสงค์อย่างมีชั้นเชิง เมื่อปี 2556 เรารวมแผนโครงการปี 2554-2556 และเริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ร่างแผนปฏิบัติการระดับโลกฉบับใหม่ เพื่อให้กรีนพีซตอบสนองต่อการคุกคามทางสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเปลี่ยนผ่านนี้จะมุ่งแก้ไขปัญหาใหญ่ใน 7 ประเด็นเพื่อให้แน่ใจได้ว่า องค์กรของเรามีประสิทธิภาพ มีความสอดคล้องสัมพันธ์ และมีความน่าเชื่อถือ 7 ประเด็นที่เรามุ่งพัฒนาได้แก่ แผนงาน (Program) การเติบโต (Growth) การทำงานกับสาธารณชน (Engagement) การพัฒนาระดับภูมิภาค (Regional Development) ความจัดองค์กร(Organization) มาตรฐาน(Standards) และบุคลากร (People)

เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้นำพาให้กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้นำและทำให้แผนงานระดับโลกได้บรรลุผล เช่นเดียวกับการตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่ยิ่งใหญ่มากกว่าในการใช้พลังความเข้มแข็งอย่างมหาศาลของเรา นั่นคือ ผู้สนับสนุนและปฏิบัติการของพวกเขาในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

งานรณรงค์ของเรา

กรีนพีซทำงานปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสันติภาพโดยการวิจัยเชิงสืบสวน การเปิดโปง และเผชิญหน้ากับการทำลายล้างสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเสนอทางออกที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ตลอดปี 2556 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำงานรณรงค์ในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันการพัฒนาที่ก้าวข้ามพ้นพลังงานสกปรกและสนับสนุนการลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดซึ่งเป็นทางออกที่สำคัญต่อการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าในงานรณรงค์ของเรายังรวมถึงการยุติการทำลายป่าไม้โบราณในอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงสุดของโลกประเทศหนึ่ง

ทั้งนี้ งานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านการปกป้องป่าไม้เป็นงานที่มีความสำคัญเร่งด่วนเป็นอันดับต้น เนื่องด้วยโลกเราต้องบรรลุเป้าหมายในการหยุดการเพิ่มขึ้นของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2558 และต้องทำให้ลดลงหลังจากปีดังกล่าว เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากจุดวิกฤตและผลกระทบที่ไม่อาจคาดคะเนได้ ในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น โลกจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน หรือเรียกว่า “การปฏิวัติพลังงาน” กล่าวคือ เปลี่ยนจากการเน้นใช้พลังงานจากเชื่อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์มาสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงการยุติการตัดไม้ทำลายป่า แนวทางดังกล่าวนี้จะเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และยังสามารถสร้างสังคมให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมได้ไปพร้อมกัน

เราริเริ่มโครงการรณรงค์ปกป้องมหาสมุทรและทะเลในภูมิภาคในปีที่ผ่านมา เริ่มต้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ. 2555 และปีต่อมาในไทยและอินโดนีเซีย โดยหยิบยกความสำคัญของทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญลำดับต้นของโลกที่กำลังถูกทำลายจากอุตสาหกรรมประมงที่ผิดกฏหมายและมีลักษณะทำลายล้าง งานที่สำคัญในการปกป้องมหาสมุทรและทะเลนี้คือการยุติการทำประมงเกินขนาดและประมงทำลายล้าง ขณะเดียวกันการขยายพื้นที่ปกป้องทางธรรมชาติทางทะเลที่ควรสงวนไว้ไม่ให้มนุษย์เข้ามารบกวนตักตวงทำลาย

ในขณะที่งานรณรงค์ด้านการดัดแปลงพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต (GMOs) ก็ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยยังมีความพยายามนำพืชจีเอ็มโอมาใช้ปลูกเป็นพืชอาหารอย่างแพร่หลาย และมีความเสี่ยงการแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เรายังขยายงานรณรงค์ไปสู่การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนให้กับสังคม โดยงานรณรงค์นี้ได้เน้นการผลักดันให้การทำเกษตรกรรม ที่ปัจจุบันเน้นใช้สารเคมีนั้นก้าวข้ามไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศซึ่งเป็นระบบเกษตรกรรมที่ปลอดภัยต่อคนและสิ่งแวดล้อม

สำหรับงานรณรงค์ด้านสารพิษ เรายังคงผลักดันให้โรงงานอุตสากรรมต่างๆ หยุดปล่อยมลพิษลงออกสู่สิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งน้ำ โดยต้องมีนโยบายด้านการจัดการสารเคมีที่มุ่งสู่การยุติการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต และความโปร่งใสด้านการรายงานข้อมูลสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ

©Paul Hilton/ Greenpeace

©Athit Perawongmetha/ Greenpeace

©Pat Roque/ Greenpeace

©Steve De Neef/ Greenpeace

© Deden Iman/ Greenpeace

เร่งรัดให้มีการ “ปฎิวัติพลังงาน”

เราเริ่มต้นการทำงานของปีด้วยการเปิดรายงาน “Green jobs” หรือ “การจ้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ในฟิลิปปินส์ ซึ่งกล่าวถึงว่าการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวหน้าจะสามารถบรรลุได้ด้วยการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน

ในไทย เราทำงานร่วมกับเครือข่ายคัดค้านถ่านหินที่มีชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอออกไปทั้งในจังหวัดกระบี่ และจังหวัดฉะเชิงเทรา ในกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมมีมติไม่รับรองรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

ในอินโดนีเซีย เรายุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลงได้โดยในเดือนตุลาคม ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ลงนามในกฏหมายที่เลื่อนเวลาการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไปอีกหกเดือน

พลังงานหมุนเวียนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในแต่ละประเทศ รัฐบาลอินโดนีเซียออกนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์และลม Feed in Tariff (FiT) และประกาศใช้ในเดือนมีนาคม นโยบายดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอของกรีนพีซที่ระบุไว้ในรายงานการปฏิวัติพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภูมิภาคเรามีส่วนร่วมในการรณรงค์ปกป้องอาร์กติกในระดับโลก โดยมีผู้คนกว่า 38,540 คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้อาร์กติกเป็นพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติของโลก อาร์กติกเป็นเสมือนหัวใจสำคัญในการรักษาสมดุลของบรรยากาศโลก และการปกป้องอาร์กติกนั้นหมายถึงการปกป้องภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากผลกระทบอันร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การรณรงค์ปกป้องอาร์กติกในเดือนตุลาคม เป็นผลให้อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่กรีนพีซ 30 คนบนเรืออาร์กติก ซันไรส์ที่ปฏิบัติการหยุดยั้งการขุดเจาะน้ำมันในอาร์กติกต้องถูกจับตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัสเซียและถูกตั้งข้อหาการกระทำอันเป็นโจรสลัด หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้คนทั่วโลกได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว มีการจัดกิจกรรมสัญลักษณ์หน้าสถานทูตรัสเซียในประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เพื่อสื่อสารข้อความ “Free the Artic 30” หรือเรียกร้องเสรีภาพให้กับนักรณรงค์ปกป้องอาร์กติก 30 คนที่ถูกจับกุมจากการประท้วงอย่างสันติที่แท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) บริเวณน่านน้ำของรัสเซีย การรณรงค์โดยประชาชนทั่วโลกดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลาสามเดือน ดารานักแสดงดัง เช่น เซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์ มาดอนน่า และจูดลอร์ก็ได้ร่วมรณรงค์เรียกร้องในครั้งนี้ด้วย ในที่สุด ทางการรัสเซียทำการนิรโทษกรรมและปล่อยตัวนักรณรงค์ปกป้องอาร์กติกทั้ง 30 คน

ยุติการทำลายป่าไม้
©Ulet Ifansasti/ Greenpeace

ในเดือนกุมภาพันธ์ ผลจากแรงกดดันของภาคประชาสังคมและสื่อต่างๆ รวมถึงการประท้วงอย่างสันติวิธีโดยกรีนพีซ ในที่สุดเอพีพี (เอเชีย พัลพ์แอนด์ เพเพอร์) หนึ่งในผู้ผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลกได้ประกาศนโยบายยุติการทำลายป่าไม้ ซึ่งงานรณรงค์ของกรีนพีซส่งผลสะเทือนให้ภาคอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและการผลิตกระดาษให้มีความรับผิดชอบ โดยการเปิดโปงข้อมูลจากวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวนที่พบหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างการทำลายป่าไม้กับอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ และแบรนด์สินค้าระดับโลกที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากการทำลายป่า เช่น เอพีพี

ในเดือนพฤษภาคม ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ประกาศขยายการยุติการสัมปทานป่าไม้ออกไปอีกสองปี โดยกรีนพีซมีบทบาทสำคัญร่วมกับเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในอินโดนีเซียในการทำให้ประกาศนี้มีผลสำเร็จ สามารถปกป้องและพื้นที่ป่าไม้ดั้งเดิมทั้งหมดรวมถึงป่าพรุที่มีความสำคัญทางธรรมชาติ

ในเดือนกรกฎาคม กรีนพีซร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มนวัตกรรมน้ำมันปาล์ม หรือ Palm Oil Innovation Group (POIG) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมและนักนวัตกรรมด้านการผลิตน้ำมันปาล์ม โดยกลุ่มได้ตั้งเป้าหมายที่จะวางมาตรฐานที่สูงกว่าข้อกำหนดของอุตสาหกรรมในการลดการทำลายป่าไม้จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

ในเดือนธันวาคม วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Wilmar International) ผู้ค้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ออกนโยบายยุติการทำลายป่าไม้ตามข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคม กรีนพีซ และผู้บริโภคทั่วโลก โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา กรีนพีซได้เปิดโปงหลักฐานของวิลมาร์ในการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อวัตถุดิบที่มาจากการตัดไม้ในอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นพื้นที่ปลูกปาล์ม และเกี่ยวข้องกับผู้จัดหาวัตถุดิบที่เผาทำลายป่าในสุมาตรา เผาทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเช่น อุรังอุตังและเสือ การทำลายถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่าได้ส่งผลให้เสือสุมาตราใกล้เข้าสู่การสูญพันธุ์ ข้อมูลหลักฐานดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยอยู่ในรายงาน “License to Kill” หรือ “ใบสั่งฆ่า” โดยหลังจากการเปิดเผยรายงานนี้ได้สองเดือน วิลมาร์ทำการประกาศนโยบายดังกล่าว ซึ่งถือเป็นชัยชนะที่สำคัญของป่าไม้และผู้คนที่อาศัยผืนป่าในการดำรงชีวิต

ปกป้องทะเลและมหาสมุทร
©Paul Hilton/ Greenpeace

การรณรงค์ปกป้องทะเลและมหาสมุทร เราเริ่มต้นจากการสร้างจิตสำนึกผ่านความงดงามและอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และความจำเป็นในการปกป้องทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลในภูมิภาค โดยชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามหลักของระบบนิเวศทางทะเล เช่น การทำประมงแบบทำลายล้าง และมลพิษ

เรานำเรือธงของกรีนพีซสองลำมาร่วมงานรณรงค์ปกป้องทะเลในภูมิภาค โดยมีเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เดินทางมายังอินโดนีเซีย และเรือเอสเพอรันซาเดินทางมายังประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ภายใต้การรณรงค์ในโครงการ “พิทักษ์รักษ์ทะเล” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เดินทางมาถึงอินโดนีเซียในเดือนพฤษภาคม โดยประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน และคณะรัฐมนตรี ให้เกียรติขึ้นมาบนเรือและประกาศให้คำมั่นในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในเดือนมิถุนายนเรือเอสเพอรันซาได้เดินทางมาถึงไทยเพื่อเข้าร่วมรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศทางทะเลในแง่ความมั่นคงทางอาหารและฐานทรัพยากรในการดำรงชีวิตของชุมชน ปัจจุบันทะเลไทยกำลังถูกคุกคามจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายและทำลายล้าง เรือเอสเพอรันซาได้ลาดตระเวนทางทะเลร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านในอ่าวไทยและทำงานกับภาคประชาชนเพื่อเรียกร้องให้มีกฎหมายที่เข้มงวดในการปกป้องทรัพยากรทางทะเล ในฟิลิปปินส์ เรือเอสเพอรันซารณรงค์ประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำประมงแบบทำลายล้าง และมลพิษที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทะเลฟิลิปปินส์

จากการเริ่มโครงการรณรงค์นี้ เราได้รับแรงสนับสนุนจากประชาสังคม ชุมชน และประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลายที่เห็นว่าทรัพยากรทางธรรมชาติในทะเลต้องได้รับการคุ้มครอง

สร้างอนาคตปลอดสารพิษ
©Andri Tambunan / Greenpeace

งานรณรงค์ด้านสารพิษในปี พ.ศ. 2556 เปิดเผยถึงปัญหาและหนทางออกที่เชื่อมโยงกันในระดับท้องถิ่นและสากล รายงานกรีนพีซสากล “สารพิษในเสื้อผ้า: สวรรค์ของการก่อมลพิษ” เปิดเผยถึงบริษัทผลิตเสื้อผ้าระดับโลกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อมลพิษในแม่น้ำ เช่น แม่น้ำซิตารุมในอินโดนีเซีย และแม่น้ำอื่นๆ ที่สำคัญของโลกที่เป็นแหล่งรับจ้างผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์เหล่านั้น ในอินโดนีเซีย อุตสาหกรรมฟอกย้อมและสิ่งทอเป็นตัวการสำคัญของการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรมในเกาะชวาตะวันตก ซึ่งมากกว่าร้อยละ 68 ของโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บริเวณตอนบนของแม่น้ำซิตารุมเป็นโรงฟอกย้อมและสิ่งทอ

จากการรณรงค์บนออนไลน์และกิจกรรมที่จัดขึ้นหลายที่ทั่วโลกที่มีผู้สนับสนุนนับแสนคนที่เรียกร้องให้มีการ “ล้างสารพิษ” ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าโดยยุติการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต และผลักดันให้รัฐบาลในประเทศผู้ผลิตต้องมีนโยบายที่มุ่งให้อุตสาหกรรมลดการใช้สารพิษและมีความโปร่งใสในการรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม

งานรณรงค์ล้างสารพิษผลักดันให้แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกประกาศล้างสารพิษในกระบวนการผลิตของตน เช่น ยูนิโคล ซิสเลย์ เพลไรฟ์ ยูไนเต็ดคัลเลอร์ เบเนตอง วิคตอเรีย ซีเครต ลาเซนซา จี-สตาร์ วาเลนตีโน่ คูพ ไมกรอส คาเนปา ซีแอนด์เอ เอสปรี เอชแอนด์เอ็ม อินดีเทกซ์ ลีวายส์ ลิมิเต็ดแบรนด์ แมงโก้ มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ และฟลาสรีเทลลิ่ง

ในประเทศไทย กรีนพีซผลักดันให้มีการจัดทำและเปิดเผยทำเนียบข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงผลักดันการแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำ เช่น กรณีห้วยคลิตี้ที่อุตสาหกรรมแต่งแร่ตะกั่วปล่อยสารตะกั่วจนทำให้เกิดการปนเปื้อนอย่างร้ายแรง และจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องโดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆและชุมชนคลิตี้ล่างที่ได้รับผลกระทบทำงานร่วมกัน สามารถประสบความสำเร็จในการผลักดันให้กรมควบคุมมลพิษให้คำมั่นที่จะฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ

ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
©Greenpeace/ John Novis

งานรณรงค์ของเราในปี พ.ศ. 2556 ส่งเสริมให้มีการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศ โดยผลักดันให้รัฐบาลฟิลิปปินส์รับรู้ถึงวิธีการทำเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติซึ่งดีกว่าการทำเกษตรที่พึ่งพาสารเคมีและจีเอ็มโอ หรือการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม ในเดือนพฤษภาคม ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เราได้สร้างประวัติศาสตร์จากการที่ศาลสูงมีคำสั่งให้ยุติการทดลองปลูกมะเขือบีทีที่เป็นจีเอ็มโอ และศาลยังได้สั่งให้มีการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับการปนเปื้อนหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำอันไม่รับผิดชอบในการทดลองครั้งนี้ คดีดังกล่าวนี้กรีนพีซเป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อปี พ.ศ. 2555

การเพิ่มขึ้นของผู้สนับสนุน
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้สนับสนุนที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันมากกว่าหนึ่งล้านคน ผ่านทางการร่วมลงชื่อรณรงค์ออนไลน์​ รับข่าวสารทางอีเมลและติดตามความเคลื่อนไหวของเราทางโซเชียลมีเดีย
64,521 คน
ร่วมรณรงค์ออนไลน์แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม
34,855 คน
ติดตามรับข่าวสารงานรณรงค์
892,752 คน
ติดตามงานรณรงค์ทางโซเชียลมีเดีย

5,097 คนมีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ในปี 2556 โดยร้อยละ 29 เป็นอาสาสมัครที่ร่วมงานอย่างแข็งขันและเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆทั้งการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี การรณรงค์อย่างสร้างสรรค์ การประชุมอาสาสมัคร และช่วยงานในสำนักงาน

57,447 คน บริจาคเงินให้กรีนพีซอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งมีผู้สนับสนุนมากขึ้น เสียงของเรายิ่งเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นักรบสายรุ้ง

อามาลี คอนเซลล์ เอช อาบูซาน อายุ 40 ปี

ผู้ประสานงานรณรงค์ระดับภูมิภาคด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นหัวหน้าโครงการปกป้องอาร์กติก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2556

นางสาวผณิตา คงสุข อายุ 36 ปี

อาสาสมัครกรีนพีซจากกรุงเทพฯ

จอห์น มาร์ก อาร์ ซากัม อายุ 23 ปี

อดีตอาจารย์ในวิทยาลัย ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นหัวหน้าทีมในบริษัท BPO

เรซ่า โมนิกา อายุ 19 ปี

นักศึกษาจากบันดุง

นิโคลอส ฮาร์จันโต อายุ 41 ปี

พนักงานบริษัทจากเมืองโบกอร์

ประวีณา ปรัชญคุปต์ ทันตแพทย์จากอุดรธานี อายุ 40 ปี

ทันตแพทย์
รายงานทางการเงิน

งานของกรีนพีซลุล่วงไปได้นั้นต้องขอขอบคุณประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกที่สนับสนุนทางการเงินให้กับเรา เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีผู้บริจาคทางการเงิน 57,447คนจากทุกสาขาอาชีพที่บริจาคอย่างต่อเนื่องเสมอมา การสนับสนุนทางการเงินทำให้เราสามารถรณรงค์เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของสิ่งแวดล้อม เราสามารถขับเคลื่อนงานรณรงค์ของเราด้วยการสำรวจ ตรวจสอบ บันทึกข้อมูล และผลักดันผู้กำหนดนโยบายให้ปกป้องสภาพภูมิอากาศ ป่าไม้ มหาสมุทร พื้นที่ชุ่มน้ำ และอาหารของเรา

กรีนพีซเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกเพียงแห่งเดียวที่มีนโยบายไม่รับทุนสนับสนุนจากบริษัทห้างร้านหรือรัฐบาลใด อิสรภาพทางการเงินของเราทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือ ด้วยการเปิดโปงอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมและเรียกร้องความรับผิดชอบและการชดใช้ให้กับสิ่งแวดล้อม

ในปี 2556 เราระดมทุนทั่วทั้งภูมิภาคได้ 142,881,000 บาท ในส่วนค่าใช้จ่ายเพื่องานรณรงค์ เราแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายของแต่ละงานรณรงค์ ดังนี้ ร้อยละ 50.2 เป็นค่าใช้จ่ายในการรณรงค์เพื่อปกป้องป่าไม้ ร้อยละ 18.2 ใช้ในการรณรงค์ปกป้องมหาสมุทร ร้อยละ 20.2 เพื่อกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศและปฏิวัติพลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 6 เพื่อการรณรงค์ด้านสารพิษ​ ร้อยละ 4.9 เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน และร้อยละ 0.5 สำหรับสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานรณรงค์ อย่างเช่น งานรณรงค์ที่ต้องรับมือกับเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

กรีนพีซยึดมั่นในการให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และลงนามในกฎบัตรแห่งความรับผิดชอบ INGO หรือ INGO Accountability Charter

หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมหรืออ่านรายงานการตรวจสอบบัญชีฉบับเต็มสามารถติดต่อฝ่ายดูแลผู้บริจาคของเราได้ที่ supporterservices.th@greenpeace.org